วันพุธที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2556

ประวัติมหาวิทยาลัยศิลปากร


มหาวิทยาลัยศิลปากร (อังกฤษ: Silpakorn University; ชื่อย่อ: มศก. - SU)เป็นมหาวิทยาลัยศิลปะแห่งแรกในประเทศไทย มีชื่อเสียงทางด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรม และโบราณคดีปัจจุบัน เปิดสอนครอบคลุมทุกสาขาวิชา ทั้งวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ และวิทยาศาสตร์การเกษตร ตามมาตรฐานของมหาวิทยาลัยสากลอย่างสมบูรณ์
ถือกำเนิดจากโรงเรียนปราณีตศิลปกรรม สังกัดกรมศิลปากร ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่7 ได้พัฒนาขึ้นเป็นลำดับจนเป็นโรงเรียนศิลปากร และเมื่อวันที่12 ตุลาคมพ.ศ. 2486พระยาอนุมานราชธนร่วมกับศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี พัฒนาหลักสูตรจนได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อเป็นสถาบันอุดมศึกษาขั้นสูงทางศิลปะของชาติ โดยมีปณิธานที่จะสร้างสรรค์ศิลปะ วิทยาการ และภูมิปัญญาเพื่อสังคม มีผลให้งานศิลปะของชาติพัฒนาและก้าวหน้า มีกิจกรรมและวิชาการต่างๆ ที่ดำเนินการเอื้ออำนวยประโยชน์ให้แก่ประชาชนเสมอมา นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบันพ.ศ. 2553 มหาวิทยาลัยศิลปากรมีผู้อำนวยการและอธิการบดีมาแล้ว 18 คน อธิการบดีคนปัจจุบัน คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชัยชาญ ถาวรเวช

ชื่อ "ศิลปากร" นั้นมาจากการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่6 ทรงมีพระบรมราชโองการ ณ วันที่ 27 มีนาคม ร.ศ.130 ว่า “...(ให้) แยกการช่างที่เป็นประณีตศิลปไว้ส่วนหนึ่ง แลให้ยกกรมพิพิธภัณฑ์จากกระทรวงธรรมการ มารวมกันตั้งขึ้นเป็น กรมศิลปากรมีผู้บัญชาการกรมขึ้นตรงต่อพระเจ้าแผ่นดิน"
มหาวิทยาลัยศิลปากร เดิมคือ โรงเรียนปราณีตศิลปกรรม สังกัดกรมศิลปากร ท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (เดิมชื่อ Corrado Feroci) ชาวอิตาเลียน ซึ่งเดินทางมารับราชการในประเทศไทย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ร่วมกับคุณพระสาโรช รัชตมินมานก์ (สาโรช สุขยางค์) ท่านทั้งสองได้ก่อตั้งโรงเรียนปราณีตศิลปกรรมขึ้นในปีพ.ศ. 2476 ใช้พื้นที่วังกลาง และวังตะวันออก หน้าพระบรมมหาราชวังเป็นที่ตั้งของโรงเรียนแห่งนี้ เปิดสอนให้แก่ข้าราชการและนักเรียนในสมัยนั้นโดยไม่เก็บค่าเล่าเรียน ต่อมาปีพ.ศ. 2478 ได้รวมเอาโรงเรียนนาฏยดุริยางคศาสตร์ ที่ตั้งอยู่วังหน้าไว้ด้วย และเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า โรงเรียนศิลปากร
โรงเรียนศิลปากรได้เจริญเติบโตเป็นลำดับเรื่อยมา กระทั่งพระยาอนุมานราชธนร่วมกับอาจารย์ศิลป์ พัฒนาหลักสูตรจนได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2486 [2]จัดตั้งคณะจิตรกรรมและประติมากรรม ขึ้นเป็นคณะวิชาแรก (ปัจจุบันคือ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์) ในปี พ.ศ. 2498 อาจารย์ศิลป์ผลักดันให้เกิดคณะวิชาใหม่ คือ คณะสถาปัตยกรรมไทย ซึ่งมี พระพรหมพิจิตร (อู๋ ลาภานนท์) เป็นผู้ก่อตั้ง (ซึ่งต่อมาได้ปรับหลักสูตรและเปลี่ยนชื่อเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์) คณะโบราณคดี วางรากฐานโดยหลวงบริบาล บุรีภัณฑ์ และต่อมาจึงมี คณะมัณฑนศิลป์ซึ่งแยกตัวออกมาจากคณะจิตรกรรมฯ จากนั้นได้ขยายพื้นที่มหาวิทยาลัยโดยได้จัดซื้อที่ดินวังท่าพระซึ่งอยู่ติดกับที่ตั้งเดิมจากทายาทสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

ต่อมาเมื่อผู้แทนขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมของสหประชาชาติได้ให้คำแนะนำในการจัดตั้ง สถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยให้มีลักษณะสอดคล้องกับหลักการสากล คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาโครงการปรับปรุงมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อขยายการศึกษาวิชาต่าง ๆ โดยไม่จำกัดเฉพาะศิลปะและโบราณคดีเท่านั้น ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร จึงได้ ดำเนินการจัดตั้งคณะอักษรศาสตร์ขึ้นเป็นคณะวิชาลำดับที่ 5 เป็นคณะวิชาแรกของวิทยาเขตแห่งใหม่ คือ วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ณ จังหวัดนครปฐม โดยเริ่มเปิดสอนนักศึกษารุ่นแรก เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2511 และคณะอักษรศาสตร์ได้ถือวันดังกล่าวเป็นวันสถาปนาคณะฯ ตลอดมา และได้มีการจัดตั้งคณะศึกษาศาสตร์ในปีพ.ศ. 2513 คณะวิทยาศาสตร์ในปีพ.ศ. 2515 คณะเภสัชศาสตร์ในปีพ.ศ. 2529 คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมในปีพ.ศ. 2535 (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม) และคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตรในปีพ.ศ. 2544(เปิดการเรียนการสอนรวมกับคณะวิทยาศาสตร์)ตามลำดับ
ระหว่างปีพ.ศ. 2542 มหาวิทยาลัยได้จัดตั้งคณะดุริยางคศาสตร์ เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ36พรรษา ในวันที่2 เมษายน พ.ศ. 2536 และเพื่อให้เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความสมบูรณ์ทางด้านศิลปะมากยิ่งขึ้น โดยจัดการเรียนการสอนตลอดหลักสูตรที่สำนักงานอธิการบดีตลิ่งชัน
จากนั้นมหาวิทยาลัยจึงได้มีมติก่อตั้งวิทยาเขตใหม่เพื่อรองรับการขยายตัวของมหาวิทยาลัยในอนาคต โดยมีมติเลือกอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี คือ วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี โดยมีคณะวิทยาการจัดการในปีพ.ศ. 2545เป็นคณะสาขาวิชาแรกของวิทยาเขต จากนั้นคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตรจึงได้ย้ายมาเปิดการเรียนการสอนเต็มรูปแบบที่วิทยาเขตนี้ ตามด้วยการจัดตั้ง คณะเทคโนโลยีสารเทศและการสื่อสาร ในปีพ.ศ. 2546เป็นคณะล่าสุด