มหาวิทยาลัยมหิดล
เป็นมหาวิทยาลัยที่มีประวัติยาวนานที่สุดของประเทศไทย ตั้งแต่การเป็นโรงเรียนแพทย์
ณ โรงศิริราชพยาบาล ชื่อว่า "โรงเรียนแพทยากร" ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.
2432 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากนั้นในวันที่ 7 กุมภาพันธ์
พ.ศ. 2486 จึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และเมื่อวันที่ 21
กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม
"มหิดล" อันเป็นพระนามของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม
พระบรมราชชนก ใช้แทนชื่อมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยมหิดล
เมื่อปี พ.ศ. 2549
มหาวิทยาลัยมหิดลได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยระดับดีเลิศและเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ
1 ทั้งในด้านการเรียนการสอนและการวิจัย จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของไทย โดย
สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา] นอกจากนี้
สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน)
ยังรับรองมาตรฐานของสถาบันในระดับดีมากให้กับมหาวิทยาลัยมหิดล
ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยมหิดลจัดการเรียนการสอนใน
15 คณะ บัณฑิตวิทยาลัย วิทยาลัย และสถาบันต่าง ๆ รวมทั้งหมด 551 หลักสูตร
โดยแบ่งออกเป็น 4 ส่วนใน 6 พื้นที่คือ มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพมหานครฯ
(ประกอบด้วยพื้นที่บางกอกน้อย พญาไท และวิทยาลัยการจัดการ), มหาวิทยาลัยมหิดล
ศาลายา, มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจบุรี, มหาวิทยาลัยมหิดล
วิทยาเขตนครสวรรค์ และ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ
อดีตผู้ที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
แต่ปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิต
มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
มหาวิทยาลัยมหิดล มีความเป็นมาจาก
โรงศิริราชพยาบาล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์
พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้จัดสร้างขึ้นบริเวณพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือที่เรียกว่า วังหลังต่อมาในปี
พ.ศ. 2436 จึงมีพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนแพทย์ ณ โรงศิริราชพยาบาล
และตั้งชื่อโรงเรียนแพทย์ว่า "โรงเรียนแพทยากร
จัดการเรียนการสอนในระดับประกาศนียบัตร 3 ปี หลังจากนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ
เสด็จพระราชดำเนินเปิดตึกของโรงเรียนแพทย์
จึงได้พระราชทานนามโรงเรียนแพทยากรใหม่ว่า "โรงเรียนราชแพทยาลัย"
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
สถาปนาโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็น
"จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"
จึงได้รวมโรงเรียนราชแพทยาลัยเข้าเป็นคณะหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2460[โดยใช้ชื่อว่า "คณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"
ต่อมา จึงเปลี่ยนชื่อเป็น "คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล"
เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
มีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ขึ้น โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า
สมควรกำหนดฐานะระเบียบแบบแผนสำหรับการศึกษาในกรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
กระทรวงการสาธารณสุข โดยแยก คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล คณะทันตแพทยศาสตร์
คณะเภสัชศาสตร์ และ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดตั้งเป็น
"มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์สังกัดกระทรวงการสาธารณสุข โดยได้จัดตั้งคณะต่าง ๆ
ในมหาวิทยาลัยมากมาย เช่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คณะสาธารณสุขศาสตร์
คณะเทคนิคการแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลนครเชียงใหม่
คณะอายุรศาสตร์เขตร้อน บัณฑิตวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
คณะทันตแพทยศาสตร์ พญาไท และคณะเภสัชศาสตร์ พญาไท ตามลำดับ
ต่อมาได้มีการปฏิรูปครั้งใหญ่ โดยการโอนคืนคณะที่ซ้ำซ้อนต่างๆ
ออกจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์คืนไปยังต้นสังกัดเดิม ได้แก่
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ไปเป็น คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ ไปเป็น คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คณะสัตวแพทยศาสตร์ ไปเป็น คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
คณะเภสัชศาสตร์ และคณะทันตแพทยศาสตร์ โอนกลับไปสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ต่อมา ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ
ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
ให้เป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานนามมหาวิทยาลัยว่า มหาวิทยาลัยมหิดล อันเป็นพระนามของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร
อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก แทนชื่อมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เดิม[เมื่อวันที่ 16
ตุลาคม พ.ศ. 2550 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผลทำให้มหาวิทยาลัยได้เปลี่ยนรูปแบบการบริหารงานเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ
ปัจจุบัน
มหาวิทยาลัยมหิดลจัดการเรียนการสอนภายในคณะ สถาบัน วิทยาลัยต่าง ๆ
ครอบคลุมทั้งในสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มนุษยศาสตร์
และสังคมศาสตร์